MENU

FAQ Covid Computer Engineering, CMU


23 March 2020

 

การใช้ชีวิต

 

Q1: ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นักศึกษาควรจะทำอย่างไร

A: ภาควิชาแนะนำให้นักศึกษาทุกคน คิดว่าตัวเองและคนอื่นๆ ติดโรคแล้ว ซึ่งความหมายของการทำตัวเหมือนว่าตัวเองติดโรคแล้ว คือ การงดออกจากที่พักหากไม่จำเป็น พบปะผู้คนให้น้อยที่สุด ในกรณีที่จำเป็นจะต้องออกไปที่อื่น ขอให้ใส่หน้ากาก ไอจามอยู่ในหน้ากาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุใด ๆ รวมถึง หน้าตา จมูก และปากของตัวเอง และล้างมือให้บ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล หรือ สบู่ การไปซื้ออาหาร อาจจะออกไปครั้งเดียวแล้วซื้อมากินได้หลายๆ มื้อหน่อย

ภาควิชาอยากให้นักศึกษาทุกคนตระหนักว่า การที่เราช่วยกันป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวดและมีวินัยนั้น ไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเสียสละเพื่อครอบครัวหรือเพื่อนของเรา ถ้าเราไม่ป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด เราอาจจะติดโดยไม่รู้ตัว แล้วนำไปติดกับครอบครัวและเพื่อนที่เรารักอย่างไม่ตั้งใจได้ นอกจากนั้นยังเป็นการเสียสละเพื่อสังคมด้วย เพราะถ้าหากเราติด แล้วเราต้องไปตรวจและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล สังคมจะต้องเสียทรัพยากรทางการแพทย์ไปกับตัวท่าน หากท่านไม่ป้องกัน

 

Q2: ช่วงนี้ยังมาที่ภาควิชาได้อยู่ไหม

A: ภาควิชาแนะนำให้นักศึกษาหลีกเลียงเดินทางออกจากที่พักไปที่อื่น รวมถึงภาควิชา คณะ ฯลฯ โดยที่ไม่มีความจำเป็น ภาควิชาเข้าใจว่านักศึกษาหลาย ๆ คนที่ไม่ได้มีเครื่องปรับอากาศ หรือ เครื่องฟอกอากาศในที่พัก อาจจะต้องพบความลำบากในการใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ที่พักทั้งวัน แต่ทั้งนี้ภาควิชาต้องขอให้นักศึกษาทุกท่านอดทนร่วมกันจนกว่าจะผ่านช่วงเวลานี้ไป อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นก็ยังสามารถเข้าที่ภาคได้เป็นบางกรณี เช่น อุปกรณ์ในการทำ Project ไม่สามารถเคลื่อนย้ายกลับไปทำที่พักได้ ในกรณีที่นักศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องมาทำงานที่ภาควิชา ขอให้นักศึกษาปฏิบัติตนดังนี้ (1) ใส่หน้ากากตลอดเวลาในขณะอยู่ภาควิชา (2) หลีกเลี่ยงการใช้มือดันประตูหรือกดลิฟท์ (3) ล้างมือทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอ (4) ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดเช็ดลูกบิดประตูอย่างสม่ำเสมอ (5) อยู่ห่างจากเพื่อนอย่างต่ำ 2 เมตร และไม่สัมผัสตัวกัน 

 

Q3: สำหรับนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น และที่พักของนักศึกษาไม่มีเครื่องฟอกอากาศ ควรจะทำอย่างไรดี

A: นักศึกษาสามารถมาใช้งานห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศในภาควิชาได้ โดยให้ถือว่านักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องมาที่ภาควิชา (ขอให้อ่านคำตอบของคำถาม "ช่วงนี้ยังมาที่ภาควิชาได้อยู่ไหม") อย่างไรก็ตาม ภาควิชาอยากให้นักศึกษาพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการซื้อเครื่องฟอกอากาศของตัวเอง ปัจจุบันเครื่องฟอกอากาศคุณภาพดีราคาไม่สูงมาก หรือหากลงทุนเครื่อง DIY ก็มีราคาเพียงหนึ่งพันกว่าบาท การใช้เงินจำนวนนี้แลกกับสุขภาพของตัวเองเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะนักศึกษาไม่มีทางอยู่ที่ภาควิชาได้ตลอดเวลา และนักศึกษาสามารถพกเครื่องฟอกอากาศของตัวเองไปไหนก็ได้แม้จะย้ายถิ่นฐานไปจังหวัดไหนก็ตาม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาฝุ่นควันแทบทุกจังหวัด

 

Q4: มีวิชาที่ต้องทำ Project หรือ รายงานกลุ่ม ต้องมีการปรึกษาหารือกัน ควรจะทำอย่างไร

A: ภาควิชาแนะนำว่า นักศึกษาควรงดการพบปะกันแบบตัวเป็นๆ แต่ให้ใช้โปรแกรมประชุมทางไกล เช่น Zoom หรือ Mircosoft Team หรือ โปรแกรมพูดคุยกัน เช่น Discord โดยการทำงานนักศึกษาสามารถทำงานร่วมกับผ่าน Google Docs (สำหรับช่วยกันทำเอกสาร), Google Sheets (สำหรับช่วยกันข้อมูลตาราง), Google Slides (สำหรับช่วยกันสไลด์สำหรับนำเสนอ), Visual Studio Live Share (สำหรับการช่วยกันเขียนโปรแกรม) หรือ Team Viewer (สำหรับการเข้าไปใช้งานเครื่องของเพื่อน)

 

Q5: ช่วงนี้น่าเบื่อมากเลย ต้องอยู่กับหอ/บ้าน ทำอะไรดี

A: ภาควิชาอยากให้นักศึกษามองวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส เช่น (1) [เวลาครอบครัว] หากนักศึกษาอาศัยอยู่ที่บ้านกับครอบครัว ให้ถือว่านี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว นักศึกษาสามารถหากิจกรรมทำกันในครอบครัว ซึ่งหากนักศึกษาจบไปทำงานแล้วโอกาสที่จะได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวแบบนี้ อาจจะเกิดขึ้นได้ยากมาก (2) [เตรียมสอบ] นักศึกษาสามารถใช้เวลาช่วงนี้ ในการทบทวนบทเรียนอย่างชิว ๆ เพื่อเตรียมสอบปลายภาค (3) [พัฒนาตัวเอง + ลองทำสิ่งใหม่ ๆ] นักศึกษาอาจจะใช้เวลาช่วงนี้ ในการพัฒนาตัวเอง เช่น ฝึกใช้เครื่องมือหรือ Platform หรือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยใช้ ที่อาจจะไม่ได้มีสอนในหลักสูตร หรือนักศึกษาฝึกทักษะในการเขียนโปรแกรมในแบบที่เรายังไม่เคยทำ หรือฝึกภาษาอังกฤษ เรียนภาษาที่ 3 ฝึกถ่ายรูป ฝึกทำอาหาร ฝึกการนำเสนอ ลองเป็น Youtuber หรือทำอะไรก็ได้ที่เคยคิดว่าถ้ามีเวลาก็อยากลองทำ ซึ่งช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี (4) [บันเทิง] ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่ดีที่นักศึกษาจะได้เล่นเกม Online กับเพื่อน ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนเก่าสมัย ม. ปลายที่ปกติมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ว่างตรงกัน หรือ นักศึกษาอาจจะมีเกมหรือซีรีย์ที่ดองไว้อยู่ นักศึกษาสามารถจัดการกับมันได้ในช่วงนี้ (5) [ทำความสะอาด] นักศึกษาอาจจะใช้เวลาในช่วงนี้ 1-2 วันในการทำความสะอาดห้องหรือจัดห้องครั้งใหญ่ โดยทั้งนี้ นักศึกษาอาจจะมีการตั้งเป้าหมายว่าในช่วงเวลานี้เราควรจะทำอะไรได้บ้าง แล้วพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายนั้น

 

Q6: หากนักศึกษากักตัวอย่าง 100% เรื่องอาหาร และ น้ำ จะจัดการอย่างไร

A: นักศึกษาสามารถใช้บริการ Delivery ผ่านอินเตอร์เน็ตสำหรับการซื้ออาหาร น้ำ และของใช้จำเป็นอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ในอนาคตหากมีคำสั่งจากรัฐบาลให้ Lock Down กลไกด้านโลจิสติกส์เหล่านี้ยังจะทำงานอยู่ อย่างไรก็ตามการเตรียมสินค้าอุปโภคบริโภคไว้ให้เพียงพอสำหรับระยะเวลา 1-2 สัปดาห์นั้นไม่ใช่การกระทำที่ไม่เหมาะสมแต่อย่างใด

 

Q7: หากนักศึกษามีไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดหัว มีอาการไอจาม รู้สึกเหมือนจะติดไวรัส ควรทำอย่างไร

A: หากนักศึกษามีอาการเหล่านี้ในคณะ ขอให้นักศึกษา 1) ใส่หน้ากากทันที 2) แจ้งทุกคนที่อยู่ใกล้ใส่หน้ากากทันที 3) แจ้งเจ้าหน้าที่คณะที่ชั้น 6 อาคาร 30 ปี 4) ให้รถคณะไปส่งที่ URI/PUI สวนดอก ซึ่งคณะทำการประสานไว้ล่วงหน้าแล้ว และรถคณะทำความสะอาดเตรียมไว้แล้ว หากนักศึกษามีอาการที่หอพัก ให้ติดต่อ ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ ที่เบอร์โทรศัพท์ 0801439051

 

Q8: หากนักศึกษาอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง หรือไปในสถานที่ ที่ได้ข่าวว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไปอยู่

A: นักศึกษาควรกักตัวอยู่กับที่พักอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อสังเกตอาการของตนเอง แยกของกินของใช้กับครอบครัวหรือเพื่อร่วมห้องที่อยู่ด้วย ติดต่อคนที่นักศึกษาสัมผัสใกล้ชิดให้พวกเขากักตัวอย่างเคร่งครัดด้วย โดยหากเริ่มมีอาการมีไข้ และ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดหัว มีอาการไอจาม ระหว่างการกักตัว ให้นักศึกษา 1) ใส่หน้ากากทันที่ 2) แจ้งทุกคนที่อยู่ใกล้ใส่หน้ากากทันที 3) ติดต่อ ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสิรฐ ที่เบอร์โทรศัพท์ 0801439051

 

Q9: หากนักศึกษาได้รับเหตุฉุกเฉิน ไม่สบาย โดยมีอาการหนัก ให้ดำเนินการอย่างไร 

A: เบอร์โทรประสานศูนย์นเรนทร เพื่อเรียกรถพยาบาล เพื่อมารับตัว 1669

 

Q10: นักศึกษา เครียด มีความวิตกกังวัลสูงว่าจะได้รับการติดเชื้อ 

A: นักศึกษาต้องเข้าใจก่อนว่าโรคนี้ถึงแม้จะติดต่อกันง่าย แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้มีอาการหนักอะไร โดยเฉพาะคนในช่วงอายุของนักศึกษา แต่เพราะมันติดต่อได้ง่าย เราจึงควรป้องกันให้ดี เพื่อให้โรคมันไม่แพร่กระจาย หากการรับข่าวสาร COVID-19 ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวัลมากเกินไป ขอให้นักศึกษางดรับข่าวสารก่อน และทำกิจกรรมอื่นๆ หรือเมาท์มอยกับเพื่อนๆ ในเรื่องบันเทิงอื่นๆ เพื่อพักจิตใจ

 

Q11: หากนักศึกษาต้องการกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด สามารถทำได้หรือไม่

A: การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเป็นหนึ่งในสาเหคุหลักที่โรคนี้จะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากนักศึกษาต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาจริง ขอให้นักศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเดินทางกลับด้วยพาหนะส่วนตัวก่อน เช่น ขอผู้ปกครองขับรถมารับ หากจำเป็นต้องเดินทางจริงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสัมผัส และล้างมือทุกครั้งเมื่อสามารถทำได้

 

Q12: หากนักศึกษาเกิดเหตุหรือข้อสงสัยด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น COVID-19 หรือ PM 2.5 สามารถปรึกษาใครได้บ้างในภาควิชา

A: นักศึกษาสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ ที่เบอร์โทรศัพท์ 0801439051

 

การเรียนและการสอบ

 

Q1: เรียนออนไลน์ ไม่รู้เรื่องเลย ทำอย่างไรดี

A: ความจริงแล้ว การเรียนไม่รู้เรื่องสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตอนเรียนปกติ หรือการเรียนแบบออนไลน์ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบปกติ หรือออนไลน์ ก็ตาม เมื่อนักศึกษาจ่ายค่าเทอมมาแล้ว ได้รับความรู้ไม่ครบถ้วนสมกับค่าเทอมนี่จ่าย ขอให้นักศึกษารักษาสิทธิโดยบอกให้อาจารย์ผู้สอนให้หาวิธีอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจ โดยในสถานการณ์ช่วงนี้นักศึกษาสามารถติดต่ออาจารย์ผู้สอนได้ตามช่องท่างออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อขอคำอธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาเพิ่มเติม 

 

Q2: นักศึกษามีปัญหาขัดข้องในการเรียนออนไลน์ ควรทำเช่นไร

A: ควรแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบในข้อขัดข้องนั้น เพื่อหาแนวทางออกร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น 

(1) หากมีปัญหาเรื่องความเร็วของอินเตอร์เน็ตในที่พัก นักศึกษาอาจจะมาใช้งานอินเตอร์เน็ตในภาควิชาได้ โดยให้ถือว่านักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องมาที่ภาควิชา (ขอให้อ่านคำตอบของคำถาม "ช่วงนี้ยังมาที่ภาควิชาได้อยู่ไหม") 

(2) ใช้โปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ไม่เป็น ในฐานะของนักศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภาควิชาและอาจารย์คาดหวังว่านักศึกษาจะมีความสามารถในการสืบค้นวิธีใช้งานโปรแกรมเหล่านั้น และศึกษาวิธีการใช้งานได้ด้วยตนเอง หากลองดูแล้วไม่สามารถใช้งานได้จริง ๆ นักศึกษาควรปรึกษาอาจารย์ผู้สอนทันที 

(3) ไม่มีอุปกรณ์ เช่น โน้ตบุ๊ก ขอให้นักศึกษาลองติดต่อขอหยิบยืมที่ภาควิชา ผ่านอาจารย์ผู้สอนวิชานั้น

 

Q3: สิ่งที่ต้องเตรียมตัวสำหรับการสอบออนไลน์ มีอะไรบ้าง

A: นักศึกษาควรวางแผนและเตรียมพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์, อินเตอร์เน็ต และสถานที่ที่จะใช้ในการสอบตามเงื่อนไขของวิชานั้นก่อนถึงเวลาสอบจริงอย่างน้อย 1 วัน โดยควรทำการทดสอบระบบในสถานที่จริงเพื่อให้มั่นใจว่าพร้อมใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา และนักศีกษามีความคุ้นเคยกับระบบหรือโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างการสอบแล้ว หากมีปัญหาควรรีบติดต่ออาจารย์ผู้สอนแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาแนวทางออกร่วมกัน (ขอให้อ่านคำตอบของคำถาม "นักศึกษามีปัญหาขัดข้องในการเรียนออนไลน์ ควรทำเช่นไร")

 

Q4: ช่วงเวลาที่สอบ เน็ตหลุด สัญญาณขาดหาย ควรทำอย่างไร

A: หากก่อนสอบอาจารย์ผู้สอนไม่ได้ชี้แจ้งแนวทางปฎิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ขอให้นักศึกษาสอบถามแนวทางปฎิบัติจากผู้สอน หรือขอช่องทางในการติดต่อกับอาจารย์ผู้สอนมีเกิดปัญหาระหว่างการสอบ โดยในระหว่างการสอบหากมีปัญหา นักศึกษาจะต้องรีบติดต่อติดต่ออาจารย์ผู้สอนทันที ในช่องทางที่กำหนด หากติดต่ออาจารย์ผู้สอนไม่ได้ให้ติดต่อ รศ.ดร.ศักดิ์กษิต ระมิงค์วงศ์ ที่ https://www.facebook.com/sakgasit

 

Q5: นักศึกษาไม่สบายหรือมีเหตุให้ไม่สามารถสอบออนไลน์ได้ในเวลาที่กำหนด

A: นักศึกษาจะต้องรีบติดต่อติดต่ออาจารย์ผู้สอนทันทีเมื่อทราบว่าไม่สามารถมาสอบได้ในเวลาที่กำหนด

 

Q6: ช่วงเวลาที่สอบ มีผู้อื่นเข้ามาในบริเวณที่สอบ จะนับเป็นการทุจริตในการสอบหรือไม่

A: ถือเป็นการทุจริต ยกเว้นวิชาที่กำหนดเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น สำหรับสถานที่สอบ นักศึกษาควรเลือกสถานที่ที่ไม่มีใครอยู่ใกล้กับนักศึกษาตามเงื่อนไขการสอบของวิชานั้น ขอให้นักศึกษาซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบด้วย

 

Q7: การสอบออนไลน์ นี่มันทุจริตง่ายจัง

A: ภาควิชามั่นใจว่านักศึกษาทุกคนเป็นคนดี มีเกียรติ และเป็นคนที่มีความภูมิใจในตัวเอง การทุจริตถือเป็นการเอาเปรียบคนอื่น ดังนั้นภาควิชามั่นใจว่าจะไม่มีนักศึกษาของภาควิชาคนใดที่ทุจริต เราไม่ชอบผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ ที่ทุจริต เราก็ไม่ควรทำสิ่งที่เราเกลียดนะ

 

Q8: ช่องทางในการติดต่อ อาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชา

A: ขณะนี้ภาควิชากำลังรวบรวมช่องทางการติดต่ออาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชา แต่เบื้องต้นนักศึกษาสามารถติดต่ออาจารย์ทุกท่านได้ผ่าน Facebook ของอาจารย์และช่องทางออนไลน์ของแต่ละวิชา เช่น Facebook, KC Moodle, Google Classroom ฯลฯ